งานที่ 9 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2560


พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 หรือที่คุ้นหูในชื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 หากจำกันได้สำหรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ เคยถูกคัดค้านอย่างหนัก ก่อนการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในที่ประชุมของ สนช. ช่วงปลายปี 2559 โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 300,000 คนในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้สนช.ชะลอการพิจารณากฎหมายดังกล่าว กฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 โดยหนึ่งในประเด็นที่มีการแก้ไขใหม่ คือ การแก้ไขมาตรา 14 เพื่อป้องกันการนำมาใช้ฟ้องหมิ่นประมาท เนื่องจากในอดีต มาตราดังกล่าวนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับ "เนื้อหา" บนโลกออนไลน์ ทั้งที่เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นเพื่อการเอาผิดการกระทำต่อ "ระบบ" คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ดี ภายหลังการแก้ไขกฎหมายของ สนช. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
 
สำหรับบทบัญญัติใหม่ของมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 มีดังนี้
 มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
 
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
 
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
 
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
 
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได
 
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
 
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้
 
โดยรายละเอียดการแก้ไขในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่
 
1. การเพิ่มคำว่า “ที่บิดเบือน” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่นำเข้าสู่ระบบอันเป็นความผิด
 
2. การเพิ่มคำว่า “โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง” เข้ามาเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 (1) ด้วย ซึ่งคำว่า "โดยทุจริต" มีคำนิยามอยู่ในมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
 
3. การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป “เป็นความผิดอันยอมความได้”
 
4. การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป ให้มีอัตราโทษลดลง คือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
 
5. การเพิ่มคำว่า “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ” เป็นองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบตามมาตรา 14 (2)
 
จากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ของ สนช. พบว่า ยังมีช่องโหว่ในการตีความกฎหมายเพื่อใช้ดำเนินคดี ‘เนื้อหา’ บนโลกออนไลน์ได้อยู่ เช่น การเพิ่มคำว่า ‘บิดเบือน’ เข้าไปเป็นองค์ประกอบความผิด ซึ่งการเพิ่มคำนี้เข้ามาแสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายจงใจจะให้นำมาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องคดีต่อการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด ทำให้มาตรา 14(1) ถูกเขียนให้ตีความได้กว้างขึ้นมาก ห่างไกลออกไปจากเจตนารมณ์เดิมที่มุ่งเอาผิดกับเพียงหน้าเว็บไซต์ปลอม จนครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็นได้หลายรูปแบบ 
 
ในขณะเดียวกัน ในมาตรา 14 (2) มีการเพิ่มคำว่า “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ” จากฉบับเดิมระบุไว้ให้ มาตรา 14(2) เอาผิดการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สองลักษณะ คือ 1) น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ 2) น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งก็สามารถตีความเอาผิดกับเนื้อหาบนโลกในออนไลน์ได้อยู่แล้ว ดังนั้น การเพิ่มนิยามใหม่ที่มีลักษณะตีความได้กว้างก็จะยิ่งทำให้กฎหมายบังคับใช้กับการจำกัดการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้กว้างขวางด้วยเช่นกัน และคำว่า ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ยังถือว่าเป็นเรื่องที่พิสูจน์กันได้ยาก และไม่ชัดเจนว่าประชาชนที่ได้รับข้อมูลแล้วตื่นตระหนกตกใจกันแค่ไหน

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม